กาแฟอราบิก้าโครงการหลวง


กาแฟอราบิก้าโครงการหลวง


ชื่อ : กาแฟอาราบิก้า (Arabica Coffee)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coffee canephora Pierre
ลักษณะ : ความสูงของการปลูกพื้นที่กาแฟนั้นควรเป็นที่มีความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส จุดเด่นของกาแฟอาราบิก้าคือ จะให้รสชาติของกาแฟที่กลมกล่อม อ่อนละมุน และมีกลิ่นหอมของกาแฟค่อนข้างมาก รสเปรี้ยวน้อย และมีปริมาณสารคาเฟอีน (Caffeine) ประมาณ 1-2 % ส่วนใหญ่นิยมนำไปทำกาแฟคั่ว-บด (Roasted Coffee) และบริโภคเป็นเครื่องดื่มที่เรียกโดยทั่วไปว่า “กาแฟสด” (Fresh Coffeeซึ่งทางโครงการหลวงอินทนนท์ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟอาราบิก้าในหน่วยแม่ยะน้อยด้วย


หม่อมเจ้าภีศเดชรัชนี เล่าเรื่องในหนังสือโครงการหลวงมีความตอนหนึ่งว่า "เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นานเวลาเสด็จประพาสต้นบนดอยก็ประกอบด้วยการปีนป่ายเขามากในเรื่องนี้ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จฯ นินทามากมายว่านำเสด็จฯด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2 - 3 ต้น ซึ่งก็จริงอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมายและก็เริ่มต้นจาก 2 - 3 ต้นนั่นเอง"


กาแฟ 2 - 3 ต้นที่ว่านั้น มีเรื่องราวย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2517 ลุงพะโย ตาโร อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองหล่ม สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่เล่าว่าตอนนั้นเขายังเป็นคนหนุ่มที่พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจึงได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านให้คอยรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้ลุงพะโยมีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวงอย่างใกล้ชิด


ลุงพะโยกล่าวว่า เมื่อมีรับสั่งถามถึงต้นกาแฟ จึงได้นำทางไปทอดพระเนตรทรงมีรับสั่งสอนให้มีการใส่ปุ๋ย และนำหญ้ามาใส่โคนต้น เมื่อลุงพะโยนำเมล็ดกาแฟถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าเมล็ดกาแฟมีความสมบูรณ์ดีและปลูกในพื้นที่ได้จึงมีรับสั่งให้ส่งเสริมการปลูกกาแฟโดยใช้เมล็ดที่นายพะโยนำมาถวายกลับคืนให้ชาวบ้านนำไปปลูกต่อ ต่อมาโครงการหลวงจึงได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟและนำวิธีการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมดังนั้นทางกรมวิชาการเกษตรโดยการสนับสนุนจากระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาผ่านทางโครงการหลวงระหว่างปีพ.ศ. 2517-2522 ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่สามารถต้านทานโรคราสนิมที่ระบาดในแหล่งปลูกภาคเหนือของไทยต่อมาในปีพ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรแปลงกาแฟที่ขุนวาง (ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ในปัจจุบัน) และทรงมีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับสภาพที่สูงของประเทศไทยเพื่อปลูกทดแทนฝิ่นบนพื้นที่สูง



ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 24 ศูนย์ รวมทั้งหมด 9,491 ไร่  เกษตรกร 2,602 ราย และเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตผ่านโครงการหลวงปีละประมาณ 400-500 ตันกาแฟกะลา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้เป็นอย่างดี การพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟอราบิก้าของโครงการหลวงได้นำมาต้นแบบการผลิตกาแฟอราบิก้าจากประเทศโคลอมเบียมาใช้เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกับพื้นที่สูงของไทย โดยประเทศโคลัมเบียมีการพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟมายาวนานและได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตกาแฟคุณภาพดีที่สุดของโลกในปัจจุบัน"การปลูกกาแฟของโคลัมเบียจะปลูกบนพื้นที่สูง 1,200-1,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อุณหภูมิเฉลี่ย 19-21.5 องศาเซลเซียส และจะปลูกต้นกล้วยควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นร่มเงาและรายได้จากกล้วย ร่มเงาจะทำให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งกาแฟอราบิก้าโคลัมเบีย เป็นกาแฟที่มีชื่อเสียง คุณภาพดี มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย ราคาสูง เป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก" 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น